วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หลักการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลดี



หลักการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลดีปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน จะมีโอกาสสูญเสียไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียม ส่วนฟอสฟอรัสนั้น พืชดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้เพียงไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของปริมาณที่ใส่ลงไปในดิน ฟอสฟอรัสที่เหลือทั้งหมด จะทำ

ระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินสามารถตรวจสอบ
ได้ด้วยการนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ทางเคมี


ปฏิกิริยากับดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำ
ยาก พืชดึงดูดไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยลงไปในดิน เพื่อให้พืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้มากที่สุดและสูญ เสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปุ๋ย ชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกันใส่ลงไปในดินโดยวิธี แตกต่างกัน พืชจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ไม่เท่ากัน อาทิ ปุ๋ยที่ใส่แบบหว่านจะให้ผลแตกต่างจากปุ๋ยที่ ใส่โรยแบบเป็นแถวหรือเป็นจุดใกล้ต้นพืช ฉะนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพจึงควรมีหลักเกณฑ์ ในการใส่ปุ๋ยที่ควรจะยึดถือเป็นแนวทางดังนี้คือ 

(๑) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง 
(๒) ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
(๓) ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ 
(๔) ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด 

(๑) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง 

การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้น หมายถึง สูตร เรโช และรูปของธาตุอาหารในปุ๋ย ปุ๋ยเคมีจะมีทั้งสามอย่างนี้ แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง 

สูตรปุ๋ย หรือบางทีเรียกว่า "เกรดปุ๋ย" หมายถึง ตัวเลขเขียนบอกปริมาณธาตุอาหาร ที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมี โดยบอกเป็นค่าของเปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (N) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2 O5) และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) สูตรปุ๋ยจะเขียนไว้ที่ภาชนะบรรจุปุ๋ย เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น 20-10-5 ตัวเลขแรกจะบอกปริมาณไนโตรเจนว่ามี อยู่หนัก ๒๐ กิโลกรัม เลขที่สองบอกปริมาณ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีอยู่ ๑๐ กิโลกรัม เลขตัวที่สามบอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ มีอยู่ ๕ กิโลกรัม รวมเป็นธาตุอาหารทั้งหมด ๓๕ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม และเป็นที่ ทราบกันเป็นสากลว่าเลขตัวแรก คือ ไนโตรเจน ตัวกลาง คือ ฟอสฟอรัส ตัวสุดท้าย คือ โพแทสเซียม จะไม่มีการสลับที่กัน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนตัวหนังสือกำกับไว้ 

เมื่อดินขาดธาตุอาหาร N P และ K ชนิดของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ ก็จะต้องมีธาตุ N P และ K แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหาร N และ P ส่วน K ในดินตามธรรมชาติมีเพียงพออยู่แล้ว ธาตุอาหาร ในปุ๋ยก็ควรจะมีแต่ N และ P เท่านั้น อาทิ ดิน นาในภาคกลาง ซึ่งขาดแต่ N และ P เป็นส่วนใหญ่ ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าวจึงมีแต่ N และ P เท่านั้น เช่น ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 28-28-0, 20-20-0 และ 16-20-0 เป็นต้น

สำหรับ "เรโช" ของปุ๋ยนั้น เป็นสัดส่วนเปรียบเทียบกันระหว่างธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในสูตรปุ๋ย เรโชปุ๋ยจะบอกเป็นตัวเลขลงตัวน้อยๆ ระหว่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส (P2 O5 ) และโพแทสเซียม (K2 O) ของสูตรปุ๋ยนั้นๆ เช่น 

16-16-8 เท่ากับเรโช 2:2:1 ได้จากการหารตลอดด้วย 8 
20-10-5 เท่ากับเรโช 4:2:1 ได้จากการหาร ตลอดด้วย 5

นั่นคือ ปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่มีเรโชเดียวกัน จะแตกต่างกัน ที่ปริมาณธาตุอาหารรวม ที่มีอยู่ในปุ๋ย เช่น สูตร 10-10-10 มีธาตุอาหารรวม N P K หนัก ๓๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ส่วนปุ๋ย 20-20-20 มีธาตุอาหารรวมหนัก ๖๐ กิโลกรัม ในปุ๋ยหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปุ๋ยสูตรแรกเท่าตัว ปุ๋ยที่มีเรโชเดียวกัน จะบอกให้ทราบว่า เป็นปุ๋ยชนิดเดียวกัน สามารถใช้แทนกันได้ ดัง นั้นถ้าใช้ปุ๋ย 10-10-10 อยู่โดยใช้อัตรา ๕๐ กก./ ไร่ สามารถเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย 20-20-20 แทนได้ แต่เนื่องจากปุ๋ยนี้มีธาตุอาหารรวมมากกว่า ก็จะ ต้องลดอัตราที่ใช้ให้น้อยลง คือใช้เพียง ๒๕ กก./ ไร่ เท่านั้น ก็จะได้ธาตุอาหารที่เท่ากัน 

ปุ๋ยเคมีจะมีสัดส่วนระหว่าง N:P:K แตกต่างกัน แล้วแต่จะนำไปใช้กับชนิดของพืช และกับที่ดินที่มีระดับธาตุอาหาร N P และ K แตกต่างกันอย่างไร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ก็จะต้องรู้จักดิน และรู้จักพืชที่ปลูกเสียก่อน ทั้งนี้เนื่องจากดินแต่ละแห่ง และแต่ละชนิด จะมีระดับธาตุอาหารปุ๋ยในดินแตกต่างกัน ส่วนพืชที่ปลูกต่างชนิดกัน หรือแม้แต่อายุพืชแตกต่างกัน ก็มีความต้องการธาตุอาหาร N P K ในปริมาณ และสัดส่วน เพื่อการเจริญเติบโต และสร้างผลิตผลแตกต่างกันเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน 

ระดับธาตุอาหารพืชในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีอยู่มากน้อยเท่าใดนั้น สามารถตรวจสอบได้ด้วยการส่งตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของไร่นานั้นๆ มาทำการวิเคราะห์ทางเคมี

ปุ๋ยที่มีเรโชของ N สูงเมื่อเปรียบเทียบกับ P และ K มักจะใช้เป็นปุ๋ยเร่งต้น เร่งใบ เหมาะสำหรับพืชผักกินใบ หรือเร่งการเจริญเติบโตทางด้านต้น และเร่งให้พืชโตเร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต ในกรณีที่ดินขาด N อย่างรุนแรง ส่วน P และ K มีอยู่ในดินระดับปานกลาง หรือค่อนข้างสูง การใช้ปุ๋ยเคมีที่เรโชของ N สูงๆ ก็จะเป็นการช่วยปรับระดับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร N P K ในดินให้เหมาะสมแก่พืชที่ปลูกได้ดีขึ้น หรือในกรณีของดินนาทางภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย ระดับความเป็นประโยชน์ของ K ในดินค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับดินนาทางภาคกลาง ดังนั้น ปุ๋ยนาที่แนะนำให้ใช้ในทางภาคอีสาน และภาคใต้จึงควรมี K รวมอยู่ด้วย แต่เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่า N และ P เช่น เรโช 2:2:1 เช่นสูตร 16-16- 8 หรือ 2:2:1 เช่นสูตร 18-12-6 แทนที่จะเป็น 16- 20-0 หรือ 20-20-0 เช่น ปุ๋ยนาในภาคกลาง ดังนี้เป็นต้น 

(๒) ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม 

ปริมาณปุ๋ยที่พอเหมาะนี้ หมายถึง จำนวน หรืออัตราปุ๋ย ที่ใช้ต่อไร่ หรือต่อต้น ที่พืชจะได้รับความพอเหมาะนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะคือ พอเหมาะในแง่ของปริมาณที่พืชควรจะได้รับ เพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุด ถ้าน้อยกว่านั้น ก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโต และให้ผลิตผลสูงเท่าที่ควร หรือถ้าให้มากเกินกว่านั้นก็อาจเป็นพิษแก่พืชหรือจะไม่ทำให้พืชเติบโต และให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น แต่ทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือ พอเหมาะในแง่ของหลักเศรษฐกิจ กล่าวคือ ปริมาณของปุ๋ยที่ใช้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับราคาของปุ๋ย และราคาของผลิตผลที่จะขายได้เสียก่อน การใช้ปุ๋ยที่พอเหมาะในแง่นี้เป็นการใส่ปุ๋ยจำนวนหนึ่ง (ต่อไร่หรือต่อต้น) ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลสูงขึ้นที่ระดับหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตผลสูงสุด) อันจะทำให้ได้กำไรต่อเงินลงทุนในการซื้อปุ๋ยมาใช้มากที่สุด 

การพิจารณาความพอเหมาะพอดีของจำนวนปุ๋ย หรืออัตราปุ๋ยที่จะใช้ จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์ และวิธีการต่างๆ หลายประการมาประกอบการพิจารณา อาทิ ชนิดของพืช ระดับความชื้น และความอุดมสมบูรณ์เดิมของดิน วิธีการปลูก การดูแล และการบำรุงรักษาของกสิกร ตลอดจนราคาของปุ๋ย และของพืชที่ปลูกประกอบด้วย 

(๓) ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ 

พืชที่ปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร มักจะแคระแกร็น และให้ผลิตผลต่ำ การใส่ปุ๋ย จะช่วยยกระดับธาตุอาหาร ที่ขาดแคลน ให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเดียวกันกับพืชชนิดเดียวกัน อาจจะให้ผลแตกต่างกันได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา (timing) ของการให้ ปุ๋ยแก่พืชนั้น ตรงกับระยะเวลาที่พืชมีความ ต้องการธาตุอาหารนั้นๆ มากที่สุดหรือไม่ ช่วง จังหวะความต้องการธาตุอาหารมากที่สุดของพืช แต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป พืชที่มีอายุสั้น เช่น พืชไร่และข้าว จะมีจังหวะการดึงดูดธาตุอาหาร ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างน้อย ๓ ช่วงด้วยกัน คือ

(๑) ช่วงแรกที่พืชเริ่มงอก และการเติบโตในระยะ ๓๐-๔๕ วันแรก พืชมักจะต้องการธาตุอาหารน้อยและช้า เพราะระยะนี้ระบบรากยังน้อย และต้นยังเล็กอยู่ 

(๒) ช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารเป็นจำนวนมาก สำหรับข้าวจะเป็นระยะที่กำลังแตกกอ และระยะที่กำลังสร้างตาดอก ถ้าเป็นข้าวโพด จะเป็นระยะที่มีอายุ ๔๕ - ๖๐ วัน ถ้าเป็นข้าวก็ระยะประมาณ ๓๐ วัน ก่อนออกดอก และ 

(๓) ช่วงที่มีการเติบโตเต็มที่แล้ว และเป็นระยะสร้างเมล็ดหรือสร้างผล ความต้องการธาตุอาหารในระยะนี้ จะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งฝักหรือเมล็ดแก่ 

ระยะที่พืชต้องการธาตุอาหารจากดินมากที่สุด และดึงดูดธาตุอาหารจากดินในอัตราที่รวดเร็วมากที่สุดก็คือ ช่วงที่สอง เพราะเป็นระยะที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และต้องการสะสมธาตุอาหารไว้ในต้นและใบ ให้เพียงพอสำหรับการสร้างเมล็ดและผล ที่จะมีขึ้นในช่วงที่สาม ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืชระยะที่สำคัญก็คือ ระยะที่สองนี้ ซึ่งพืชควรจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ให้เพียงพอที่สุด 

ดังนั้นการให้ปุ๋ยแก่พืช จึงต้องแบ่งใส่ จังหวะการใส่ควรให้พอเหมาะกับระยะที่พืชต้องการ จะยังผลให้ประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่สูง ความเหมาะสมของจังหวะเวลาการให้ปุ๋ยกับพืช ได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง พืชแต่ละชนิดจะมีช่วงที่ควรจะแบ่งใส่ปุ๋ย เพื่อให้มีผลดีแก่พืชมากที่สุดแตกต่างกันออกไป แต่อาจจะถือเป็นหลักเกณฑ์กว้างๆ ได้คือ 

๓.๑ การแบ่งใส่ปุ๋ยมักจะให้ผลดีกว่าการใส่ปุ๋ยจำนวนเดียวกันนั้นเพียงครั้งเดียวตอนปลูก ยกเว้นเมื่อใช้ปุ๋ยในอัตราต่ำมากๆ 

๓.๒ การใส่ครั้งแรกคือ ใส่ตอนปลูก ควรใส่แต่น้อย โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนปุ๋ยฟอสเฟต และปุ๋ยโพแทสนั้น จะใส่ทั้งหมดในตอนปลูกก็ได้ 

๓.๓ การใส่ครั้งที่สอง ควรใส่ระยะที่พืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างระยะแตกกอสูงสุดถึงใกล้ออกดอก ส่วนใหญ่การใส่ครั้งที่สองจะเป็นปุ๋ยไนโตรเจน ถ้าอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้สูงมากๆ การแบ่งใส่ควรเป็นสามครั้งคือ ตอนปลูก ตอนเริ่มการเติบโตอย่างรวดเร็ว และตอนระยะใกล้ออกดอก และจะไม่ช้าไปกว่าระยะหลังจากพืชออกดอกแล้ว หรือระยะที่พืชเริ่มแก่ 

(๔) ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด 

นอกจากจังหวะการใส่แล้ว วิธีการใส่ เพื่อให้พืชดึงดูดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากในทันทีทันใดที่ปุ๋ยลงไปอยู่ในดิน ปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยจะเกิดขึ้นทันที

ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ย จะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วมาก เพราะละลายน้ำได้ง่าย ไนโตรเจนในรูปไนเทรต จะถูกน้ำพัดพาออกไปจากชั้นของดินได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารากพืชดึงดูดเอาไว้ไม่ทัน ก็จะสูญเสียไปหมด และไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชแต่อย่างใด ปกติแล้วปุ๋ยไนโตรเจนในดินจะสูญเสียไป โดยการชะล้างประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ใส่ลงไป ไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม ถึงแม้ จะดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ และถูก ชะล้างได้ยากก็จริง เมื่อดินมีการถ่ายเทอากาศดี จะถูกแปรรูปโดยจุลินทรีย์ในดินจะทำปฏิกิริยา เพิ่มออกซิเจน (oxidized) ให้กลายเป็นไนเทรต (NO3- N) ได้ง่ายและเร็วมาก 

ฟอสฟอรัสในปุ๋ย ถึงแม้จะละลายน้ำได้ง่าย แต่เมื่ออยู่ในดิน จะทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับแร่ธาตุต่างๆ ในดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก ความเป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง และไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ดังนั้นเมื่อใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตรงจุดไหน ฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ง่าย ก็มักจะอยู่ตรงจุดนั้น ถ้าจะเคลื่อนย้ายจากจุดเดิม ก็เป็นระยะใกล้ๆ ในรัศมี ๑-๕ ซม. เท่านั้น ดังนั้นการใส่ปุ๋ยฟอสเฟตให้กับพืช จึงต้องให้อยู่ใกล้กับรากมากที่สุด เพื่อที่รากจะไม่เป็นอันตรายจากปุ๋ยนั้น การใส่บนผิวดิน จะเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยกว่าใส่ใต้ผิวดินในบริเวณที่รากจะแพร่กระจายไปได้ถึง ซึ่งผิดกับปุ๋ยไนโตรเจน ที่ใส่บนผิวดินก็สามารถซึมลงมายังบริเวณรากที่อยู่ใต้ผิวดินได้ง่าย ดังนั้น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนใต้ผิวดินจึงไม่มีข้อดีไปกว่า ใส่บนผิวดิน

ปุ๋ยโพแทสเซียมจะเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่าฟอสเฟต แต่จะช้ากว่าไนโตรเจน โพแทสเซียมในปุ๋ย ละลายน้ำได้ง่ายพอๆ กับไนโตรเจนก็จริง แต่เนื่องจากมีประจุบวก ซึ่งดูดยึดอยู่ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้ จึงถูกชะล้างได้ยาก แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ได้ง่ายแก่พืชอยู่ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม จึงสามารถใส่บนผิวดิน หรือใต้ผิวดินก็ได้ แต่การเคลื่อนย้ายจะช้ากว่าไนโตรเจน และในเวลาเดียวกันการสูญเสียโดยการชะล้างก็ จะน้อยกว่าด้วย


ที่มา: http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=18&chap=8&page=t18-8-infodetail06.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น